ยินดีที่แวะมาเยี่ยม web blog ทักษะการจัดการความรู้ (KM) ทักษะการเรียนรู้ที่สำคัญและจำเป็นสำหรับผู้เรียนศตวรรษที่ 21 วิชาประวัติศาสตร์ กลุ่มสาระสังคมศึกษาฯ โรงเรียนเสลภูมิพิทยาคม ขอบคุณคุณครูชาญวิทย์ ปรีชาพาณิชพัฒนา และเพื่อนๆ ที่แนะนำให้คำปรึกษา

ร.ร เสลภูมิพิทยาคม

ข่าวการศึกษา

ยินดีต้อนรับสู่บล็อกของนายวโรดม ครับ

วันอาทิตย์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

การเมืองการปกครองสมัยรัตนโกสินทร์ยุค หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง36

การเมืองการปกครองสมัยรัตนโกสินทร์ยุค หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง

การเมืองการปกครองสมัยรัตนโกสินทร์ยุค
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง


พัฒนาทางด้านประชาธิปไตยสมัยรัชกาลที่ 4-7

การปูพื้นฐานประชาธิปไตยในสมัยรัชกาลที่ 5

    การรับอารยธรรมตะวันตกในสมัยรัชกาลที่ 5 ก่อให้เกิดการยอมรับความคิดของผู้อื่น ซึ่งเท่ากับเป็นการปูพื้นฐานประชาธิปไตย พอสรุปได้ ดังนี้

            1.ทรงตั้งสภาที่ปรึกษาขึ้น 2 สภา ได้แก่ สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (Council of  State)  และสภาที่ปรึกษาในพระองค์ (Privy Council) เพื่อแสดงการยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น    แม้สมาชิกส่วนใหญ่จะเป็นพระบรมวงศานุวงศ์แต่ก็นับเป็นการเริ่มระบอบประชาธิปไตย
            2.ทรงเป็นผู้นำกลุ่ม สยามหนุ่ม (Young Siam) ในการต่อสู้ทางความคิดเห็นกับคนรุ่นเก่าที่มักไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง และออกหนังสือชื่อ ดรุโณวาท เพื่อเผยแพร่แนวคิดใหม่
            3.ทรงยอมรับฟังความคิดเห็นของกลุ่มคนหนุ่มที่มีความคิดก้าวหน้ากลุ่มสำคัญกลุ่มหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยพระราชวงศ์ และข้าราชการสามัญ ทรงยอมรับฟังว่าหนทางที่ประเทศไทยจะรักษาเอกราชไว้ได้หนทางหนึ่งนั้น คือ การปรับระบบข้าราชการ และเปลี่ยนการปกครองแบบ แอบโสลูตโมนากี (สมบูรณาญาสิทธิราชย์) เป็นแบบคอนสติติวชันแนลโมนากี ห(พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ) แม้จะยังไม่ทรงสามารถปฏิบัติตามในขณะนั้นได้ก็ตาม
            4.ทรงออกพระราชบัญญัติปกครองท้องที่ พ.ศ.2440 ซึ่งมีสาระสำคัญส่วนหนึ่ง คือ ให้มีการเลือกตั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งจัดว่าเป็นการปูพื้นฐานประชาธิปไตยที่ชัดเจน 

การปูพื้นฐานประชาธิปไตยในสมัยรัชกาลที่ 6

     ในช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญของโลก ที่แสดงพลังอำนาจของประชาชนเป็นกระแสประชาธิปไตยที่รุนแรง กล่าวคือ ใน พ.ศ.2451 (ก่อนขึ้นครองราชย์ 2 ปี) ประเทศตุรกีก็ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นแบบประชาธิปไตย ในพ.ศ.2454 เกิดการปฏิวัติในประเทศจีน ขับไล่พระจักรพรรดิเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐและใน พ.ศ.2460 พระองค์ก็ได้ทรงทราบถึงการปฏิวัติใหญ่ของพวกบอลเชวิก ล้มล้างอำนาจ ปลงพระชนม์พระเจ้าซาร์และราชวงศ์ เกิดการนองเลือดทั่วไปในแผ่นดินรัสเซีย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงทราบดีว่ามีกลุ่มประชาชนคนไทยจำนวนหนึ่งที่เรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง แม้จะทรงเห็นด้วย แต่ความรู้เรื่องประชาธิปไตยจำกัดขอบเขตอยู่ในคนส่วนน้อยเท่านั้น จึงทรงดำเนินพระราชกุศโลบาย  เพื่อเผยแพร่ประชาธิปไตย เป็น 3 วิธี คือ

            1.ทรงตั้งดุสิตธานี เมืองจำลองประชาธิปไตย ดุสิตธานีเป็นเมืองจำลองหรือเมืองตุ๊กตา โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นในพ.ศ.2461 บนเนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ ในพระราชวังดุสิต (ภายหลังย้ายไปวังพญาไท) มีถนน อาคารสถานที่ราชการ ร้านค้า และบ้านเรือนเหมือนเมืองจริงๆ แต่ย่อส่วนให้เล็กลงพอเดินดูเห็นได้หมดทั้งเมือง แล้วสมมุติให้ข้าราชการบริพาร ขุนนาง มหาดเล็กของพระองค์เป็นราษฎรของเมืองนี้ จัดให้มีการเลือกตั้ง สภานคราภิบาล ทำหน้าที่ปกครองเมือง มีการออกกฎหมายจัดระบบภาษีอากร ระบบการรักษาพยาบาล และกระบวนการต่างๆ ของเมืองประชาธิปไตย มีการเรียกประชุมราษฎรสมมุติเหล่านั้น มาร่วมกันเลือกตั้ง และแก้ไขเพิ่มเติมธรรมนูญของดุสิตธานี มีการอภิปรายถกเถียงกันระหว่างคณะนคราภิบาลกับฝ่ายค้านเพื่อเป็นแบบอย่างให้คนทั้งหลายได้เห็นและคุ้นเคยกับกระบวนการประชาธิปไตย เป็นการสอนหลักประชาธิปไตยแก่ประชาชน แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงโปรดการเล่นละครอยู่แล้วคนทั่วไปจึงพากันเข้าใจว่าดุสิตธานีเป็นการเล่นละครอย่างหนึ่งเท่านั้น จึงไม่ได้ผลในทางปลูกฝังประชาธิปไตยมากนัก
    2.ทรงเขียนบทความหนังสือพิมพ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงเป็นนักอักษรศาสตร์ นอกจากจะทรงมีพระปรีชาสามารถในทางพระราชนิพนธ์ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรองแล้ว ยังทรงเขียนบทความทางการเมืองตอบโต้กับคนหัวใหม่สามัญชน แม้พระองค์จะทรงใช้พระนามแฝงแต่คนทั่วไป ก็ทราบดีว่าผู้เขียน คือ พระองค์ นับเป็นการสร้างความรู้สึกที่ดีในหมู่พสกนิกรว่า พระมหากษัตริย์มิได้ถือพระองค์ ทรงมีพระราชหฤทัยเป็นนักประชาธิปไตย เป็นอีกก้าวหนึ่งในการปูพื้นฐานประชาธิปไตยของพระองค์ 
            3.พระราชทานอภัยโทษ กบฏ ร.ศ.130 กลุ่มผู้ก่อการกบฏ ร.ศ.130 ส่วนใหญ่เป็นนายทหารหนุ่มซึ่งมีแนวคิดสมัยใหม่ที่ค่อนข้างรุนแรงไม่พอใจวิธีการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ต้องการให้มีการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยเร็ว จึงร่วมกันคบคิด แต่ความลับรั่วไหลเสียก่อนถูกจับได้ทั้งหมดจึงถูกจำคุกบ้าง รอการลงอาญาบ้าน แต่ภายหลังก็ทรงพระราชทางอภัยโทษให้ทั้งหมด อีกทั้งยังแจกกางเกง ผ้าขาวม้า และเงิน 100 สตางค์ให้ทุกคนอีกด้วย การพระราชทานอภัยโทษครั้งนี้อาจนับได้ว่าพระองค์ทรงเล็งเห็นความปรารถนาดีของกลุ่มก่อการกบฏ ที่ต้องการให้บ้านเมืองเจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับอารยประเทศจึงไม่ทรงเอาโทษจัดเป็นการส่งเสริมประชาธิปไตยอีกอย่างหนึ่งของพระองค์

การปูพื้นฐานประชาธิปไตยในสมัยรัชกาลที่ 7

            ได้กล่าวมาแล้วว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จขึ้นครองราชย์ ในปีพ.ศ.2468 ท่ามกลางกระแสความคิดแบบประชาธิปไตย บรรดาสื่อมวลชนในเวลานั้น ซึ่งได้แก่ หนังสือพิมพ์รายวันและรายคาบ ต่างตีพิมพ์บทความแสดงความคิดเห็นทางการเมือง วิพากษ์วิจารณ์การบริหารราชการแผ่นดิน และข้อขัดแย้งระหว่างพระราชวงศ์กับราษฎรสามัญอยู่ไม่เว้นแต่ละวัน นับเป็นแรงกดดันอย่างสำคัญที่พระองค์จะต้องทรงเร่งรีบพิจารณาพระราชทานรัฐธรรมนูญแก่ประชาชนโดยเร็ว
            สิ่งที่ปรากฏชัดว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงปรารถนาที่จะให้ประชาชนปกครองตนเอง ได้แก่ การที่พระองค์พระราชทานสัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ในสหรัฐอเมริกาขณะที่ประทับรักษาพระเนตรอยู่ที่นั่นว่า พระองค์กำลังทรงเตรียมการที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชนชาวไทย และเมื่อเสด็จกลับประเทศไทยก็ทรงมีพระราชดำริชัดเจนว่าจะพระราชทานรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 6 เมษายน 2475 วันเดียวกับวันพระราชพิธีเปิดสะพานพระปฐมบรมราชานุสรณ์ (สะพานพระพุทธยอดฟ้าฯ) เนื่องในโอกาสฉลองกรุงที่กรุงรัตนโกสินทร์สถิตสถาพรมาครบ 150 ปี โดยทรงให้ กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศจัดร่างรัฐธรรมนูญขึ้น ซึ่งกรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย ได้มอบหมายต่อให้พระยาศรีวิสารวาจา ปลัดทูลฉลองกระทรวงการต่างประเทศกับ นายเรย์มอนด์  สตีเวนส์  ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ ทั้งสองต่างถวายร่างของตน และถวายความเห็นตรงกันว่ายังไม่ควรปกครองประเทศในระบบรัฐสภา เนื่องจากประชาชนยังไม่พร้อม ควรทดลองในระดับท้องถิ่น (เทศบาล) ก่อน ที่สำคัญ คือพระองค์ยังทรงได้รับการทัดทานการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ
จากพระบรมวงศานุวงศ์ในอภิรัฐมนตรีสภา จึงมิได้ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญตามกำหนดังกล่าว พระราชปณิธานอันนี้เองที่อธิบายได้ว่า เมื่อมีการปฏิวัติยึดอำนาจเหตุใดพระองค์จึงทรงยินดีมอบรัฐธรรมนูญ
ให้แก่พสกนิกรของพระองค์ โดยมิได้ทรงขัดขวาง จะมีขัดขวางก็ที่พระราชวงศ์ผู้ใหญ่บางพระองค์เท่านั้น

การเปลี่ยนแปลงการปกครอง

สาเหตุการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปีพ.ศ.2475

            นอกจากสาเหตุดั้งเดิมได้กล่าวมาแล้ว ยังเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เกิดการปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 ดังจะกล่าวต่อไปนี้
            1.เศรษฐกิจตกต่ำ ในระหว่าง พ.ศ.2472-2474 เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก  สินค้าไทยโดยเฉพาะข้าวราคาตกต่ำ เกิดภาวะขาดแคลนทั่วประเทศ ประกอบกับประเทศไทยมี     รายจ่ายเกินกว่ารายได้ต่อเนื่องมาหลายปี ทำให้ฐานะการเงินการคลังของรัฐบาลอยู่สภาพคลอนแคลน

รายได้ – รายจ่ายของประเทศ พ.ศ.2463 – 2468

ปีงบประมาณ
รายได้
รายจ่าย
จ่ายเกิน
พ.ศ.2463
72,500,000
82,130,126
9,630,126
พ.ศ.2464
77,800,000
82,030,582
4,232,582
พ.ศ.2465
79,000,000
87,416,713
8,416,713
พ.ศ.2466
80,000,000
90,216,043
10,216,043
พ.ศ.2467
84,000,000
93,125,688
9,125,688
พ.ศ.2468
91,000,000
94,875,238
3,875,238

ที่มา : เกียรติชัย  พงษ์พาณิชย์, คณะราษฎร : ความขัดแย้งและรูปแบบเพื่อการครองอำนาจ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ 6 (10)

            มิถุนายน 2515 หน้า 59   ซึ่งรัฐบาลในสมัยรัชกาลที่ 7 พยายามแก้ไขสถานะการคลังเป็นหลายวิธี เช่น ลาออกจากองค์การมาตรฐานทองคำ กำหนดค่าเงินบาทขึ้นใหม่ แต่ที่สำคัญซึ่งได้รับความเดือดร้อนกันทั่วไป คือ การเพิ่มภาษีราษฎรและการปลดข้าราชการออกเพื่อรักษาดุลยภาพทางการเงินสร้าง             ความไม่พอใจให้แก่ข้าราชการที่พูดกันในสมัยนั้นว่า ถูกดุล เป็นอันมาก
            2.ความขัดแย้งระหว่างสามัญชนกับพระราชวงศ์ สามัญชนมีการศึกษาสูงขึ้น ที่จบจากต่างประเทศ กลับเข้ามารับราชการก็มีมาก แต่บรรดาเจ้านายพระราชวงศ์บางพระองค์ทรงไม่สามารถปรับพระองค์ได้ ยังทรงถือเป็นข้าหรือบ่าวอยู่ตามเดิมอยู่ในลักษณะดูหมิ่นดูแคลน ทำให้สามัญชนที่มีความรู้ความสามารถเกิดน้อยเนื้อต่ำใจ 
            3.แนวคิดที่ได้รับจากตะวันตก ข้าราชการที่ได้รับการศึกษาตามแบบตะวันตกต้องการให้มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย 
            4.การประวิงเวลาพระราชทานรัฐธรรมนูญในวันที่ 6 เมษายน 2475 การที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 มิอาจพระราชทานรัฐธรรมนูญในโอกาสสมโภชกรุงครบรอบ 150 ปี ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2475 เพราะได้รับการทัดทานจากคณะอภิรัฐมนตรี เป็นการเร่งรัดให้มีการปฏิวัติโดยเร็วยิ่งขึ้น เพราะข้าราชการที่มีความคิดก้าวหน้าเห็นว่า หนทางที่จะได้รับพระราชทานรัฐธรรมนูญ โดยไม่ใช้กำลังบังคับนั้นไม่มีแล้ว

เหตุการณ์การปฏิวัติ 

            กลุ่มผู้ริเริ่ม คือ นักเรียนไทยในฝรั่งเศส ผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญตั้งแต่ต้น ได้แก่ นายปรีดี พนมยงค์ กับ ร้อยโทแปลก ขีตตะสังคะ เมื่อบุคคลเหล่านี้กลับประเทศไทย ก็รวบรวมผู้คนซึ่งมีความคิดอย่างเดียวกัน โดยนายปรีดี  พนมยงค์  ซึ่งได้รับพระราชทางบรรดาศักดิ์เป็นหลวงประดิษฐ์ มนูธรรมเป็นผู้ดำเนินการด้านพลเรือน และร้อยโทแปลก  ขีตตะสังคะ ซึ่งได้เลื่อนยศมีบรรดาศักดิ์เป็นพันตรีหลวงพิบูลสงคราม เป็นผู้ดำเนินการด้านทหาร เมื่อรวบรวมผู้คนได้จำนวนมากพอสมควรจึงตั้งชื่อ  คณะปฏิวัติว่า คณะราษฎร มีพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์  พหลโยธิน) เป็นหัวหน้า พันเอกพระยาทรงสุรเดช (เทพ  พันธุมเสน) พันเอกพระยาฤทธิอาคเนย์ (สละ  เอมะศิริ) และพันโทพระประสาทพิทยยุทธ (วัน  ชูถิ่น) เป็นรองหัวหน้า
            การปฏิวัติเริ่มในตอนเช้าตรู่ของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ขณะที่รัชกาลที่ 7 ทรงแปรพระราชฐานไปประทับที่พระราชวังไกลกังวล หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  โดยอ้างกับกองทหารต่างๆ ว่าเป็นการซ้อมรบยุทธวิธีอย่างใหม่ เมื่อมาถึงพร้อมกันจึงได้ประกาศว่าเป็นการปฏิวัติ หลังจากพระยาพหลพลพยุหเสนาอ่านประกาศแล้วจึงส่งกำลังเข้าควบคุมสถานที่สำคัญๆ ทางราชการในกรุงเทพฯ และแยกย้ายกันไปถวายอารักขา (ควบคุม) พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงและบุคคลสำคัญเพื่อเป็นตัวประกันสำหรับต่อรอง เช่น จอมพลสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์  กรมพระนครสวรรค์วรพินิต  ประธานอภิรัฐมนตรีสภา และเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เป็นต้น ขณะนั้นสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรฯทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการพระนครอยู่พระองค์ท่านทรงตัดสินพระทัยไม่ใช้กำลังโต้ตอบคณะราษฎรให้เกิดการเสียเลือดเนื้อขึ้น และทรงยินยอม ออกแถลงการณ์ให้ประชาชนอยู่ในความสงบ ระหว่างนั้นทางฝ่ายคณะราษฎรได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงจุดประสงค์ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองให้ประชาชนทราบ และได้แถลงหลัก 6 ประการ อันเป็นนโยบายของคณะราษฎรที่จะนำมาใช้บริหารประเทศ

หลัก 6 ประการของคณะราษฎร
 1.หลักเอกราช  จะรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง ในทางการศาล    ในทางเศรษฐกิจของประเทศไว้ให้มั่นคง
            2.หลักความปลอดภัย จะรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก    และสร้างความสามัคคีของคนในชาติ
            3.หลักเศรษฐกิจ จะบำรุงความสุขสมบูรณ์ในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ    จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
            4.หลักเสมอภาค จะให้ราษฎรมีสิทธิเสมอหน้ากัน ไม่ให้ผู้ใดมีสิทธิเหนือผู้อื่น
            5.หลักเสรีภาพ จะให้ราษฎรมีอิสระที่จะใช้สิทธิ ผู้ใดจะบังคับมิได้
            6.หลักการศึกษา จะให้การศึกษาแก่ราษฎรอย่างทั่วถึง

            หลังจากนั้นคณะราษฎรได้ทำหนังสือไปกราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7    ให้ดำรงอยู่ในตำแหน่งพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ            พระองค์ทรงยอมรับตามข้อเสนอของคณะราษฎร    เพื่อให้ประเทศชาติมีรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับนานาอารยประเทศตามที่ทรงมีพระราชปณิธานอยู่แล้    ทำให้การเปลี่ยนแปลงการปกครองประสบความสำเร็จ โดยปราศจากการเสียเลือดเนื้อ
            พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จกลับกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ.2475    คณะราษฎรได้นำรัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ซึ่ง                
            หลวงประดิษฐ์มนูธรรมและคณะราษฎรบางคนได้ร่างขึ้น    ทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อให้ทรงลงพระปรมาภิไธย    พระองค์จึงได้พระราชทานพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราวในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2475    นับเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย
            จากนั้นคณะราษฎรจึงได้คัดเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราวจำนวน 70 คน ตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ    ตั้งขึ้นเป็นสภาผู้แทนราษฎร    ละได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้น 2 ชุด ชุดแรกมีจำนวน 14 คน ทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน    ชุดที่สองจำนวน 9 คน เป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร

พัฒนาทางการเมืองการปกครองสมัยรัตนโกสินทร์ยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง (พ.ศ.2475-ปัจจุบัน)

            วิกฤตการณ์ทางการเมืองหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง    การพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวร 
            พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวรให้ใช้เป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ     ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475หลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้วจึงได้มีการตั้งคณะรัฐมนตรี จำนวน 20 คนทำหน้าที่บริหารประเทศ มีพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่รัชกาลที่ 7 พระราชทานให้ใช้เป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ มีดังนี้
            1.พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดละเมิดมิได้
            2.อำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นพระประมุข ทรงใช้อำนาจนี้แก่โดยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ    อำนาจอธิปไตยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ นิติบัญญัติ  บริหาร  และตุลาการ
            3.พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎรซึ่งอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี  มีสมาชิก 2 ประเภท    จำนวนเท่ากันเป็นระยะเวลา 10 ปี โดยมีสมาชิกประเภทที่ 1 ได้แก่ สมาชิกที่ราษฎรเลือกตั้งเข้ามา และประเภทที่ 2    ได้แก่สมาชิกที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง
            4.พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจบริหารทางคณะรัฐมนตรี ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างน้อย 14 นาย อย่างมาก 24 นาย
            5.พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจตุลาการทางศาล ซึ่งจัดตั้งตามกฎหมาย เพื่อพิจารณาพิพากษาอรรถคดี

            ในช่วงระยะเวลาไม่ถึง 1 ปีของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้เกิดความยุ่งยากทางการเมืองขึ้น    ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากความคิดเห็นขัดแย้งในคณะรัฐบาลเกี่ยวกับเรื่องเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี  พนมยงค์)    ซึ่งพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรี เห็นว่าเค้าโครงการเศรษฐกิจนี้ดำเนินการตามหลักการของประเทศสังคมนิยม    ซึ่งก็สอดคล้องกับพระบรมราชวินิจฉัยของรัชกาลที่ 7    ในขณะเดียวกันพระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้ออกคำสั่งห้ามข้าราชการและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าเป็นสมาชิกสมาคม
            เกี่ยวข้องกับการเมือง ซึ่งเท่ากับจะเป็นการล้มคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ต่อมาในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2476    พระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้ประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา    และออกพระราชบัญญัติการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์    ซึ่งเป็นผลทำให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรมต้องเดินทางออกนอกประเทศ    ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับคณะราษฎรจึงปรากฏเด่นชัดขึ้น ในที่สุด    พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา จึงก่อการรัฐประหาร ยึดอำนาจรัฐบาล    เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2476 และขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี    อำนาจของคณะราษฎรจึงคืนกลับมาอีกครั้งหนึ่งพร้อมกันนั้นหลวงประดิษฐ์มนูธรรมก็ได้เดินทางกลับประเทศไทยเข้าร่วมกับรัฐบาลชุดใหม่

กบฏบวรเดช
    เหตุการณ์ในระยะต่อมามีหลายสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าสมาชิกคณะราษฎรบางคนละทิ้งสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน และละเลยหลักการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการปล่อยให้ประชาชนฟ้องร้องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ซึ่งเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ สร้างความไม่พอใจให้แก่ประชาชนส่วนหนึ่ง พลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม กับพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น  ท่าราบ)  และนายทหารผู้ใหญ่อีกหลายคน จึงได้ก่อการกบฏขึ้นในวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ.2476 เพื่อให้มีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างแท้จริง คณะกบฏเคลื่อนกำลังทหารนครราชสีมา สระบุรี อยุธยา มาจนถึงดอนเมือง เกิดการสู้รบขึ้นจนถึงขั้นประจัญบาน แต่ในที่สุดกองทหารฝ่ายรัฐบาลอันมีพันตรีหลวงพิบูลสงครามเป็นผู้บัญชาการรบก็สามารถปราบลงได้ พันเอกพระยาศรีสิทธิสงครามตายในที่รบ และพลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดชเสด็จลี้ภัยไปต่างประเทศ

การสละราชสมบัติของรัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

            การกบฏครั้งนี้มีผลกระทบกระเทือนต่อพระราชฐานะของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะคณะราษฎรเข้าใจว่าพระองค์ทรงสนับสนุนการกบฏ ทั้งๆ ที่ทรงวางพระองค์เป็นกลาง ความสัมพันธ์ระหว่างรัชกาลที่ 7 และคณะราษฎรจึงร้าวฉานยิ่งขึ้น
            ต้น พ.ศ.2477 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จไปรักษาพระเนตรที่ประเทศอังกฤษ ระหว่างนั้นได้ทรงขอให้คณะราษฎรคำนึงถึงความต้องการอันแท้จริงของประชาชน และให้ปกครองประเทศตามหลักสากลเยี่ยงนานาประเทศ แต่ไม่สัมฤทธิผล จึงทรงประกาศสละราชสมบัติในวันที่ 2 มีนาคม 2477  รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้นลงมติเห็นชอบกราบทูลอัญเชิญพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล พระโอรสในสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ (โอรสพระองค์หนึ่งของรัชกาลที่ 5) ขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8

การสร้างและพัฒนาชาติด้านการเมือง 

            ในสมัยประชาธิปไตยของไทย เป็นสมัยที่วิทยาการและเทคโนโลยีของโลกกำลังเจริญขึ้น การติดต่อระหว่างประเทศต่างๆ ทั่วโลกเป็นไปด้วยความรวดเร็วยิ่งขึ้น แม้การบินนานาชาติยังไม่มี แต่การติดต่อสื่อสารทางวิทยุ และโทรเลข ก็สามารถทำได้สะดวก ทำให้ประเทศซึ่งแม้จะเป็นประเทศประชาธิปไตยใหม่ เริ่มมีบทบาทเกี่ยวกับการเมืองระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น นับตั้งแต่การส่งทหารไปร่วมรบในสงครามโลก เป็นต้นมา

การแก้ไขสนธิสัญญาเสียเปรียบและยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต 

            สัญญาเสียเปรียบที่ไทยเราทำกับนานาประเทศไว้ในในสมัยรัชกาลที่ 4 นั้นยังมีผลใช้บังคับเรื่อยมา เป็นอุปสรรคสำคัญในการสร้างและพัฒนาชาติ โดยเฉพาะสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของชาติต่างๆ ทำให้ไทยไม่มีเอกราชสมบูรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ทรงแก้ไข โดยถือโอกาสที่ไทยเป็นฝ่ายชนะสงครามโลกครั้งที่ 1 ร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรโดยมีผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการเจรจา คือ ดร.ฟรานซิส บี. แซร์ เป็นที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศและเป็นบุตรเขยของประธานาธิบดีวิลสันแห่ง สหรัฐอเมริกา ภายหลังได้รับบรรดาศักดิ์เป็น พระยากัลยาณไมตรี แต่เจรจาสำเร็จเพียง 2 ประเทศ ได้แก่ 1.สหรัฐอเมริกา  2.ญี่ปุ่นเนื่องจากรัชกาลที่ 6 เสด็จสวรรคตเสียก่อน ทำให้ต้องพยายามต่อมา และสามารถแก้ไขได้หมดทุกประเทศในสมัยรัฐบาลประชาธิปไตย ในพ.ศ.2481

กรณีพิพาทอินโดจีน พ.ศ.2483 ไทยได้ดินแดนบางส่วนคืนจากฝรั่งเศส

            ในพ.ศ.2482 ได้มีสงครามเกิดขึ้นในทวีปยุโรป กองทัพเยอรมันบุกเข้ายึดประเทศโปแลนด์ รุกเข้าไปในประเทศฝรั่งเศส และอีกหลายประเทศในยุโรป จนลุกลามกลายเป็นสงครามโลกครั้งที่ 2 ความรู้สึกชาตินิยมในประเทศไทยทำให้เกิดการเดินขบวนเพื่อเรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศส รัฐบาลขอให้ฝรั่งเศสทำความตกลงปักปันเขตแดนระหว่างไทยกับอินโดจีนของฝรั่งเศสเสียใหม่ แต่ตกลงกันไม่ได้และฝรั่งเศสยังไม่ล่วงละเมิดพรมแดนไทย และใช้กองทัพเรือฝรั่งเศสในอินโดจีนล่วงล้ำน่านน้ำทะเลไทยทางด้านจังหวัดตราด จึงเกิดการรบขึ้นทั้งทางบกและทางทะเล กองทัพได้บุกเข้าไปในดินแดนอินโดจีนและยึดดินแดนคืนได้หลายแห่ง แต่ก่อนที่จะยึดได้ทั้งหมด ญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจและเริ่มมีบทบาทในอินโดจีน เข้ามาไกล่เกลี่ย ฝรั่งเศสยอมคืนดินแดนฝรั่งขวาแม่น้ำโขงที่เสียไปครั้งที่ 4 ในสมัยรัชกาลที่ 5 และปรับปรุงแนวเขตแดนใหม่ ดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงส่วนที่ตรงข้ามกับหลวงพระบาง ไทยตั้งชื่อเป็นจังหวัดล้านช้าง และดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงตอนล่าง ตั้งชื่อเป็นจังหวัดจำปาศักดิ์ จังหวัดพิบูลสงคราม จังหวัดพระตะบอง การปรับปรุงเขตแดนคราวนี้ ทำให้ราชอาณาจักรไทยครอบคลุมไปถึงทะเสสาบเขมรตอนบน

วิกฤตการณ์ทางการเมืองหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

            ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะสงบนั้น ในฐานะที่ไทยประกาศสงครามกับอังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ประเทศไทยโดยเฉพาะกรุงเทพฯ จึงถูกเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรโจมตีทางอากาศ ทิ้งระเบิดทำลายจุดยุทธศาสตร์ เช่น สะพาน โรงไฟฟ้า และอาคารต่างๆ ประชาชนได้รับความลำบากเดือดร้อน จอมพล ป. พิบูลสงคราม (หลวงพิบูลสงคราม) ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีเวลานั้น จึงถูกสถานการณ์บีบคั้น ในที่สุดก็ต้องลาออกจากตำแหน่ง ในวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ.2487 เมื่อแพ้คะแนนเสียงในสภาผู้แทนราษฎร

 ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อกอบกู้สถานการณ์บ้านเมือง พ.ศ.2488

            เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม ลาออก นายควงอภัยวงศ์ (หลวงโกวิทอภัยวงศ์) ซึ่งเป็นผู้หนึ่งในคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ใน พ.ศ.2475 ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน และได้ลาออกให้นายทวี  บุณยเกตุ เป็นนายกรัฐมนตรีชั่วคราว เพื่อรอ ม.ร.ว.เสนีย์  ปราโมช  กลับจากสหรัฐอเมริกามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อแก้สถานการณ์บ้านเมืองที่ตกเป็นฝ่ายแพ้สงคราม เนื่องจาก ม.ร.ว.เสนีย์  ปราโมช  เป็นหัวหน้าคณะเสรีไทย เป็นที่รู้จักดีของสหรัฐอเมริกา มหาอำนาจชั้นนำของฝ่ายสัมพันธมิตรในเวลานั้น ซึ่ง ม.ร.ว.เสนีย์  ปราโมช  ก็แก้ไขสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี จนประเทศไทยไม่มีสภาพเป็นผู้แพ้สงคราม
            แม้ไทยจะได้ชื่อว่ามีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย มาตั้งแต่ พ.ศ.2475 แต่ตลอดเวลานั้นอำนาจในการบริหารประเทศที่แท้จริงตกอยู่ในมือของคณะทหารที่มี จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นผู้นำ เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม หมดอำนาจลงภายหลังสงครามโลก มีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ในปี พ.ศ.2492 พรรคการเมืองต่างๆ เกิดขึ้น ประชาชนมีโอกาสได้สัมผัสระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย มีผู้ผลัดเปลี่ยนกันเป็นนายกรัฐมนตรี คือ นายปรีดี  พนมยงค์ (หลวงประดิษฐ์มนูธรรม) และพลเรือตรีถวัลย์  ธำรงนาวาสวัสดิ์  (หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์)  แม้ทั้งสองท่านนี้จะร่วมอยู่ในคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ด้วย แต่ก็เป็นฝ่ายที่ไม่นิยมใช้กำลัง

รัชกาลที่ 8 ถูกลอบปลงพระชนม์ , สาเหตุการรัฐประหาร พ.ศ.2490   หลังสงครามโลกสงบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ได้เสด็จนิวัตประเทศไทย พร้อมด้วยพระเจ้าน้องยาเธอ (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน) และก่อนที่จะเสด็จกลับไปศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ก็ทรงถูกลอบปลงพระชนม์ในวันที่ 9 มิถุนายน  พ.ศ.2489 คณะทหารซึ่งนิยม จอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงอ้างเป็นสาเหตุหนึ่งกระทำรัฐประหารเข้ายึดอำนาจขับไล่รัฐบาล ซึ่งมีพลเรือตรีถวัลย์  ธำรงนาวาสวัสดิ์เป็นนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 และให้นายควง  อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามกับพรรคสหชีพ ของพลเรือตรีถวัลย์  ธำรงนาวาสวัสดิ์) เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ 6 เดือนต่อมาคณะรัฐประหารก็ให้ออก แล้วเชิญจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีแทน

การต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ 

    เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นช่วงเวลาที่เวทีการเมืองของโลก แบ่งออกเป็น 2 ค่ายใหญ่ ๆ ได้แก่ ค่ายเสรีประชาธิปไตย หรือค่ายตะวันตก มีสหรัฐอเมริกาเป็นแกนนำ กับค่ายคอมมิวนิสต์ หรือค่ายตะวันออกมีสหภาพโซเวียตเป็นผู้นำ (ใน พ.ศ.2492 จีนทั้งประเทศตกอยู่ในอำนาจของ เหมา  เจ๋อ  ตุง  ซึ่งปกครองประเทศในระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์) ทั้งสองค่ายต่างฝ่ายต่างอ้างว่าอีกฝ่ายหนึ่งคุกคามสันติภาพของโลก และแสวงหาประเทศต่างๆ เข้าร่วมเป็นพรรคพวก  จอมพล ป. พิบูลสงคราม จังตัดสินใจนำประเทศเข้าร่วมกับค่ายเสรีประชาธิปไตย และทุ่มเทความไว้วางใจให้แก่สหรัฐอเมริกา

การเข้าร่วมสงครามเกาหลี 

    สหประชาชาติลงมติว่าจีนและเกาหลีเหนือ เป็นฝ่ายรุกรานเกาหลีใต้ ในพ.ศ.2493 และส่งกองทัพสหประชาชาติเข้าไปช่วยเกาหลีใต้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงส่งกำลังทหารไทยไปร่วมในกองทัพสหประชาชาติด้วย ทั้งกำลังทางบกและทางเรือ

สนธิสัญญาป้องกันร่วมกันแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

    ภาวะการคุกคามระหว่าง 2 ค่าย ที่เรียกว่า สงครามเย็น ได้ทวีความรุนแรงขึ้นในที่สุดก็เกิดความร่วมมือทำสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ส.ป.อ) ขึ้น ประกอบด้วยสมาชิก 8 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย  นิวซีแลนด์  ปากีสถาน  ฟิลิปปินส์ และไทย  มีสาระสำคัญว่า เมื่อประเทศใดถูกรุกรานประเทศที่เหลือจะเข้าช่วย

จอมพล ป. พิบูลสงครามกับไฮด์ปาร์คที่สนามหลวง

            การเข้ามามีอำนาจเป็นนายกรัฐมนตรีโดยอำนาจรัฐประหารใน พ.ศ.2490 ทำให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้รับการต่อต้านจากประชาชน มีการกบฏเกิดขึ้นหลายหน แต่สามารถปราบได้ เป็นเหตุให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องหาวิธีแก้ไข ได้เดินทางไปดูงานในต่างประเทศ พบว่าประชาชนอังกฤษในลอนดอน มีสิทธิเสรีภาพในการพูดการเมืองที่สนามในสวนหลวงที่ชื่อ ไฮด์ปาร์ค จึงนำมาใช้บ้าง โดยยอมให้มีการพูดการเมืองได้อย่างเสรีที่สนามหลวง (การพูดเช่นนี้ผู้คนทั่วไปเรียกกันติดปากว่า ไฮด์ปาร์ค)

รัฐประหาร พ.ศ.2500

            จอมพล ป. พิบูลสงคราม ส่งเสริมประชาธิปไตย โดยจัดให้มีการเลือกตั้งขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2500 แต่ประชาชนไม่พอใจ เชื่อว่าฝ่ายรัฐบาลโกงการเลือกตั้ง เนื่องจากที่เขต (อำเภอ) ดุสิตนั้นนับคะแนนผลการเลือกตั้งเป็นเวลาถึง 3 วัน 3 คืน นิสิตนักศึกษาและประชาชนจึงเดินขบวนไปประท้วงที่ทำเนียบรัฐบาล จอมพลสฤษดิ์  ธนะรัชต์  ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก สามารถทำความเข้าใจกับนิสิตนักศึกษาและประชาชนได้ จึงมีชื่อเสียงขึ้นมาหลังจากเคยมีชื่อเสียงในการปราบกบฏมาแล้ว เมื่อเห็นว่าประชาชนสนับสนุน อีกไม่กี่เดือนต่อมา จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงทำรัฐประหารขับไล่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2500 และเชิญให้นายพจน์  สารสิน เลขาธิการ ส.ป.อ. ซึ่งสหรัฐอเมริกายอมรับนับถือมาเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อจัดการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ (จอมพล ป. พิบูลสงคราม ลี้ภัยไปอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น และไม่ได้กลับประเทศไทยอีกเลยจนตลอดชีวิต)

จอมพลสฤษดิ์  ธนะรัชต์เป็นนายกรัฐมนตรี 

            เมื่อนายพจน์  สารสิน  จัดการเลือกตั้งสำเร็จเรียบร้อยแล้วก็ลาออกให้ จอมพลถนอม กิตติขจร (ขณะนั้นมียศพลโท) ผู้ใกล้ชิดจอมพลสฤษดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีชั่วคราว ต่อมาจอมพลสฤษดิ์ทำรัฐประหารใหม่ ยุบสภาผู้แทนราษฎร และตั้งคณะรัฐบาลทหารขึ้น มีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เป็นนายกรัฐมนตรี

ยึดทรัพย์จอมพลสฤษดิ์  ธนะรัชต์ 

            รัฐบาลทหารของจอมพลสฤษดิ์ บริหารราชการแผ่นดินด้วยความเข้มแข็ง มีการระดมกำลังสมองจากนักปราชญ์นักวิชาการมาช่วยชาติบ้านเมือง เช่น กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ (ม.จ.วรรณไวทยากร  วรวรรณ) และหลวงวิจิตรวาทการ เป็นต้น  ปกครองบ้านเมืองอย่างเฉียบขาด มีการตอบโต้ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์อย่างจริงจัง และสนิทแนบแน่นกับสหรัฐอเมริกา จนได้รับความช่วยเหลือด้านการเงินมาพัฒนาประเทศเป็นอันมาก
            แต่การบริหารนั้นก็เกิดหละหลวม เมื่อจอมพลสฤษดิ์ถึงแก่กรรมใน พ.ศ.2506 จึงมีการกล่าวหาว่าจอมพลสฤษดิ์  ธนะรัชต์ ทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง จนถูกยึดทรัพย์สินทั้งหมดให้ตกเป็นของแผ่นดิน

รัฐบาลถนอม – ประภาส (พ.ศ.2506 – 2516)

            จอมพลถนอม กิตติขจร  ได้สืบทอดเป็นนายกรัฐมนตรีสืบต่อจากจอมพลสฤษดิ์  คนทั่วไปเรียกว่า รัฐบาลถนอม-ประพาส เพราะจอมพลประภาส  จารุเสถียร ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กำลังสำคัญของรัฐบาล เป็นเครือญาติกับจอมพลถนอมโดยการสมรสของบุตร
            รัฐบาลถนอม – ประภาส ได้จัดให้มีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้น ในเวลาหลายปี จนถึงปลายปี พ.ศ.2511 จึงเสร็จและมีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรในต้นปี พ.ศ.2512 ซึ่งฝ่ายรัฐบาลถนอม-ประภาสตั้งพรรคการเมืองขึ้น ชื่อพรรคสหประชาไทย และชนะการเลือกตั้ง หลังการเลือกตั้ง จึงมีรัฐบาลถนอม-ประภาสอีก แต่ไม่ถึง 2 ปี จอมพลถนอม กิตติขจรก็ทำรัฐประหารตนเองในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 ยกเลิกรัฐธรรมนูญ ยุบรัฐสภาผู้แทนราษฎร ตั้งรัฐบาลทหารขึ้นใหม่ เป็นรัฐบาลถนอม-ประพาส ที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น

วันมหาวิปโยค  14  ตุลาคม   2516

การยกเลิกรัฐธรรมนูญ  ทำให้ประชาชนไม่พอใจ เพราะการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2511 นั้นใช้เวลานานหลายปีผิดปกติอยู่แล้ว ครั้นใช้มาไม่ถึง 3 ปี ก็ยกเลิกเสีย ไม่แน่ว่าอีกนานเท่าไรจึงจะร่างใหม่ได้สำเร็จ จึงมีนักศึกษา อาจารย์  และนักกฎหมายรวม 13 คน ประกาศเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ซึ่งทั้งหมดได้ถูกต้องจับกุม
            เมื่อคณะผู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญถูกจับกุม จึงเกิดการชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัวบุคคลทั้ง 13 คนนั้นการชุมนุมได้รับความสนับสนุนจากประชาชนอย่างกว้างขวางนับตั้งแต่เด็กนักเรียนชั้นมัธยมขึ้นไปฝ่ายรัฐบาลใช้กำลังเข้าปราบปราม ทำให้เหตุการณ์ลุกลามใหญ่โต เกิดนองเลือดในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 มีผู้คนเสียเลือดเนื้อล้มตาย ทำให้ประชาชนบางพวกโกรธแค้นถึงกับเผาทำลายอาคารสถานที่และยานพาหนะของทางราชการ
            แต่ด้วยเดชะพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เหตุการณ์จึงได้สงบ โดยจอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส  จารุเสถียร ยอมลาออกจากตำแหน่งและเดินทางออกไปจากพระราชอาณาจักร

นายสัญญา  ธรรมศักดิ์ นายกฯพระราชทาน 

            เมื่อจอมพลทั้งสองเดินทางออกนอกประเทศไปแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้นายสัญญา  ธรรมศักดิ์  ประธานองคมนตรีในเวลานั้น ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี  มีภารกิจสำคัญ  คือ ฟื้นฟูระเบียบของบ้านเมือง ประสานสามัคคีในหมู่คนในบ้านเมืองกลับคืนสู่ภาวะปกติโดยเร็ว  และร่างรัฐธรรมนูญที่เหมาะสมขึ้นใช้ปกครองประเทศ
            ในที่สุดบ้านเมืองก็สงบดังเดิม  การร่างรัฐธรรมนูญได้เสร็จสิ้นลง และประกาศใช้ในวันที่ 7 ตุลาคม 2517 เป็นรัฐธรรมนูญที่นักการเมือง และนักวิชาการจำนวนมากลงความเห็นว่า เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่เป็นประชาธิปไตยดีที่สุด สมกับที่ได้มาด้วยความยากลำบาก

เหตุการณ์ภายหลังวันมหาวิปโยค 

     ภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 มีรัฐบาลบริหารประเทศหลายชุด แต่ต่างก็เข้ามาบริหารประเทศในช่วงเวลาสั้นๆ

รัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์  ปราโมช  (ก.พ.2518)

     เริ่มแรกที่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญใหม่ สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ได้รับเลือกตั้งเข้ามามากที่สุด ม.ร.ว.เสนีย์  ปราโมช  ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรค  ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีจัดตั้งคณะรัฐบาลขึ้น แต่เมื่อถึงวันแถลงนโยบายไม่ได้รับความไว้วางใจจึงต้องลาออก

รัฐบาล ม.ร.ว.ศึกฤทธิ์  ปราโมช  (มี.ค.2518 – ม.ค.2519)

     เมื่อรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์  ปราโมช  ลาออกแล้ว  ม.ร.ว.คึกฤทธิ์  ปราโมช  หัวหน้าพรรคกิจสังคม ได้เป็นนายกรัฐมนตรีจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้นจากหลายพรรคการเมือง แต่การบริหารประเทศก็มีอุปสรรคอันเนื่องมาจากความขัดแย้งระหว่างพรรคการเมือง การชุมนุมและเดินขบวนของประชาชนเพื่อเรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาถอนทหารออกไปจากประเทศไทย และเพื่อเรียกร้องสิทธิต่างๆ
การบริหารบ้านเมืองของรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์  ปราโมช  เป็นไปด้วยความยากลำบาก ในที่สุด ม.ร.ว.คึกฤทธิ์  ปราโมช  นายกรัฐมนตรีต้องประกาศยุบสภา  เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นใหม่

การปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน 6 ตุลาคม 2519

            ผลการเลือกตั้งจากการยุบสภา ทำให้ ม.ร.ว.เสนีย์  ปราโมช  หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นนายกฯอีกสมัยหนึ่ง แต่ก็ยังมีการประท้วงเรียกร้องของกลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มเกษตรกร กลุ่มแรงงาน กลุ่มนักศึกษา ซึ่งได้รับการต่อต้านจากกลุ่มอนุรักษ์นิยม เช่น กลุ่มกระทิงแดง กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน เป็นต้น
            การประท้วงครั้งสำคัญ คือการประท้วงการกลับเข้ามาในราชอาณาจักรของสองอดีตผู้นำ จอมพลถนอมกับจอมพลประภาส
            ในตอนเช้าตรู่ของวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ความรุนแรงของความขัดแย้งถึงขนาดปะทะกันด้วยกำลัง ในที่ชุมนุมบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และลุกลามออกมาถึงบริเวณสนามหลวง มีผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิต รัฐบาลประชาธิปัตย์ของ ม.ร.ว.เสนีย์  ปราโมช  ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้
ตกเย็นวันนั้นเอง คณะทหารก็ประกาศยึดอำนาจ เรียกคณะของตนว่าคณะปฏิรูป           การปกครองแผ่นดิน มีพลเรือเอกสงัด  ชลออยู่  ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นหัวหน้า และมีพลเอกเกรียงศักดิ์  ชมะนันท์ เป็นเลขาธิการคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน อาสาเข้ามาจัดระเบียบการปกครองบ้านเมืองเสียใหม่ มีการปราบปรามผู้ประท้วงอย่างรุนแรง มีผู้บาดเจ็บ เสียชีวิต และสูญหายจำนวนมาก และบางคนต้องหลบหนีเข้าป่าไปสมทบกับขบวนการคอมมิวนิสต์ทั้งในประเทศและนอกประเทศ

รัฐบาลนายธานินทร์  กรัยวิเชียร  (8 ต.ค. – 19 ต.ค.2520)

     มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายธานินทร์  กรัยวิเชียร  เป็นนายกรัฐมนตรี     โดยมีรัฐธรรมนูญซึ่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินทูลเกล้าฯ ถวายให้ทรงประกาศใช้ปกครองประเทศ รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีหลักการสำคัญ คือ นายกรัฐมนตรี กับคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินมีอำนาจเบ็ดเสร็จ เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญสมัยเผด็จการ จอมพลสฤษดิ์  ธนะรัชต์  ก่อให้เกิดความไม่พอใจแก่เหล่าทหารบางกลุ่ม นักการเมือง และประชาชน จนทหารกลุ่มหนึ่งได้ก่อการรัฐประหารขึ้น โดยมี     พลเอกฉลาด  หิรัญศิริ  เป็นหัวหน้า  แต่ถูกปราบปรามลง กลายเป็นขบถและหัวหน้ากลุ่มหนึ่งได้ก่อการรัฐประหารขึ้น ตามอำนาจเบ็ดเสร็จที่ให้ไว้ในรัฐธรรมนูญ

พลเอกเกรียงศักดิ์  ชมะนันท์  ปฏิวัติและเป็นนายกรัฐมนตรี (11 พ.ย. 2520 – 3 มี.ค.2523)

     การบริหารอย่างเด็ดขาดของรัฐบาลนายธานินทร์ สร้างความไม่พอใจให้แก่ประชาชน และขัดแย้งกับทหารในคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุด พลเรือเอกสงัด  ชลออยู่  ก็ประกาศยึดอำนาจจากรัฐบาลและยุบสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน มีพระบรม                  ราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พลเอกเกรียงศักดิ์  ชมะนันท์ เป็นนายกรัฐมนตรี และจัดให้มีการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญใหม่ โดยพลเอกเกรียงศักดิ์  ชมะนันท์ สมัครรับเลือกตั้งด้วย ซึ่งก็ได้รับเลือกตั้งเข้ามา และสามารถกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีตามวิถีทางประชาธิปไตย แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้ ทั้งยังขัดแย้งกับทหารกลุ่มหนุ่ม (ซึ่งคนทั่วไปเรียกว่า กลุ่มยังเติร์ก) ทำให้ต้องลาออก และพลเอกเปรม    ติณสูลานนท์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากนายทหารกลุ่มหนุ่ม ได้เป็นนายกรัฐมนตรี

รัฐบาลพลเอกเปรม  ติณสูลานนท์ (พ.ศ.2523-2531)

     พลเอกเปรม  ติณสูลานนท์  ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อ 12 มีนาคม พ.ศ.2523 และเป็นนายกรัฐมนตรี ต่อเนื่องอยู่นานถึง 8 ปี เนื่องจากพลเอกเปรมเป็นผู้ไม่สังกัดพรรคการเมืองใด แต่รวมมือกับพรรคการเมืองและนักวิชาการตั้งรัฐบาลผสมขึ้น เป็นผู้มีคุณสมบัติพิเศษในการประสานความคิดและรู้จักผ่อนปรน   เป็นผู้ริเริ่มเปลี่ยนแปลงนโยบายปราบปรามผู้ก่อการร้ายจากการใช้กำลังเป็นการให้ความเห็นใจ เช่น ไม่เอาโทษผู้ก่อการร้ายที่กลับใจ  ช่วยหาอาชีพให้ เรียกผู้กลับใจว่า ผู้ร่วมพัฒนาชาติ  เป็นต้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้สร้างความประทับใจให้แก่ผู้ก่อการร้าย จึงทำให้มีจำนวนผู้ร่วมพัฒนาชาติมากขึ้นทุกที จนในที่สุดการก่อการร้ายก็หมดไป พร้อมกันนั้นก็เริ่มวางพื้นฐานทางเศรษฐกิจอย่างมั่นคง เช่น การนำก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยขึ้นมาใช้ และการสร้างท่าเรือน้ำลึก โครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออก (Eastern Seaboard) เป็นต้น
หลังการเลือกตั้งใน พ.ศ.2531 พลเอกเปรม ก็วางมือจากการเมืองปล่อยให้นักการเมืองเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลกันเอง

รัฐบาลพลเอกชาติชาย  ชุณหวัณ (พ.ศ.2531-2534)
เมื่อพลเอกเปรม  ติณสูลานนท์  วางมือ บรรดาพรรคการเมืองต่างๆ ก็สนับสนุนให้พลเอกชาติชาย  ชุณหวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ตั้งรัฐบาลผสมขึ้น ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ผลพวงจากการวางรากฐานของรัฐบาลพลเอกเปรมเริ่มสัมฤทธิ์ผล การเศรษฐกิจของไทยขยายตัวอย่างรวดเร็ว จัดเป็นชาติหนึ่งที่เศรษฐกิจขยายตัวสูงสุดในโลก แต่รัฐบาลที่มีพลเอกชาติชาย ชุณหวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า มีการฉ้อราษฎร์บังหลวง รัฐมนตรีบางคนทุจริต กลุ่มทหารที่มีพลเอกสุนทร  คงสมพงษ์  เป็นหัวหน้าจึงเข้าทำการปฏิวัติ

สภา รสช. กับรัฐบาลนายอานันท์  ปันยารชุน  (พ.ศ.2534 – 2535)

     คณะปฏิวัติได้จัดการปกครอง โดยมีสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) และได้ดำเนินการให้มีการร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีนายอานันท์  ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี

จลาจล (พฤษภาทมิฬ) พฤษภาคม 2535

      หลังจากร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534 เสร็จแล้ว รัฐบาลนายอานันท์  ก็จัดให้มีการเลือกตั้ง ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า พรรคการเมืองหลายพรรคได้รวบรวมเสียงข้างมากสนับสนุนให้ พลเอกสุจินดา  คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี จัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้น สร้างความไม่พอใจให้แก่นักศึกษา นักการเมือง และประชาชน เพราะเห็นว่าพลเอกสุจินดา  เป็นผู้อยู่เบื้องหลังคณะ รสช. และทำเพื่อประโยชน์ของตนเอง ผู้ไม่พอใจซึ่งมีพลตรีจำลอง ศรีเมือง เป็นผู้นำ  จึงทำการประท้วงอย่างกว้างขวาง เรียกร้องให้พลเอกสุจินดา  คราประยูร ออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี และแก้ไขรัฐธรรมนูญบางประการ โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง
รัฐบาลพลเอกสุจินดา คราประยูร ไม่ยอมลาออก ซ้ำยังใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุมเดินขบวน ทำให้มีผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิตไปจำนวนหนึ่ง แต่ผู้ชุมนุมก็ผนึกกำลังต่อสู้อย่างไม่ลดละ

พระบารมียุติการจลาจล 

     เมื่อการชุมนุมต่อต้านพลเอกสุจินดา ไม่มีทีท่าว่าจะยุติได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้พลเอกสุจินดา กับพลตรีจำลอง ศรีเมือง เข้าเฝ้าฯ เพื่อพระราชทานโอวาทให้ปรองดองกัน โดยทรงมอบหมายให้ พลเอกเปรม  ติณสูลานนท์  ซึ่งดำรงตำแหน่งองคมนตรี เป็นผู้ประสานความเข้าใจ การจลาจลจึงยุติลง พลเอกสุจินดา คราประยูร ลาออก และนายอานันท์  ปันยารชุน ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัยหนึ่งเพื่อดำเนินการเลือกตั้งใหม่

รัฐบาลหลังยุค รสช.

     รัฐบาลนายอานันท์  ได้ยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นในเดือนกันยายน พ.ศ.2535 ปรากฏว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนเสียงมากกว่าพรรคอื่นๆ แต่ไม่ถึงกับเป็นเสียงข้างมากจึงต้องตั้งรัฐบาลผสมขึ้น มีนายชวน  หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่อยู่ได้เพียง 2 ปีเศษ ก็ต้องลาออก เพราะถูกฝ่ายค้านเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ
เมื่อรัฐบาลนายชวน  หลีกภัย  ลาออกแล้วก็จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ในเดือนกรกฎาคม   พ.ศ.2538 พรรคชาติไทยได้เสียงมากกว่าพรรคอื่นๆ จึงได้รับมอบหมายให้จัดตั้งรัฐบาลโดยมี          นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย  เป็นนายกรัฐมนตรี และได้บริหารราชการมาเป็นเวลา  1 ปี 2 เดือน จึงถูกฝ่ายค้านเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีเพียงผู้เดียว เนื่องจากไม่ได้บริหารราชการให้เป็นไปตามนโยบายที่แถลงไว้ แม้จะได้รับมติความไว้วางใจให้บริหารราชการ
ต่อไปได้ แต่นายกรัฐมนตรีก็ประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ.2539 และจัดให้มี การเลือกตั้งในวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2539

      ผลจากการเลือกตั้ง ปรากฏว่าพรรคความหวังใหม่ที่มีพลเอกชวลิต  ยงใจยุทธ  เป็นหัวหน้า ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุด จึงได้จัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้น โดยมีพลเอกชวลิต  ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ.2539แต่การเมืองการปกครองบ้านเมืองในระบอบประชาธิปไตยนั้นย่อมจะไม่ราบรื่นเรียบร้อยเสมอไป
ความยุ่งยากทางการเมืองของไทย ยังคงมีต่อมาเป็นประวัติศาสตร์ที่เราจะต้องศึกษาต่อไป
            หลังจากพลเอกชวลิต  ยงใจยุทธ  เป็นผู้นำในการบริหารประเทศมาได้ระยะหนึ่งก็เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ (ยุค IMF)  พลเอกชวลิต  ยงใจยุทธก็ประกาศลาออก  รัฐบาลที่เข้ามาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจต่อมาก็คือรัฐบาลที่นำโดยนายชวน   หลีกภัย  แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาให้หมดไปจนกระทั่งมีการเลือกตั้งใหม่ และพรรคที่ได้รับเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรก็คือ พรรคไทยรักไทย ซึ่งเป็นพรรคการเมืองใหม่ ซึ่งมี พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ  ชินวัตร  เป็นหัวหน้าพรรคและได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี  หัวหน้าคณะรัฐบาล สามารถบริหารประเทศให้มีภาวะเศรษฐกิจดีขึ้น        ในเวลาต่อมาแต่ก็มีปัญหามากมายที่ต้องแก้ไข ถือว่าความยุ่งยากทางการเมืองก็ยังไม่หมดไปจากสังคมไทย
            อดีตรัฐบาลที่นำโดย พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ     ชินวัตร ก็ได้รับเลือกตั้งให้เข้ามาบริหารประเทศเป็นสมัยที่ 2  หลังจากสามารถบริหารประเทศครบตามวาระ 4 ปี ในสมัยแรก ซึ่งก็ถือว่าเป็นรัฐบาลที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนเป็นอย่างมาก

ที่มา : ดร.ประเสริฐ วิทยารัฐและคณะ,หนังสือเรียน ส306 ประเทศของเรา 4 สมบูรณ์แบบ,
          (กรุงเทพฯ : วัฒนาพานิช,2542) 

         คณะทำงานเฉพาะกิจการจัดทำหนังสือประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ ,
         ประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ , (กรุงเทพฯ : อัมรินทร์การพิมพ์,2525) 

         สุคน  สินธพานนท์ และพรรษมน กิตติสารศักดิ์. สังคมศึกษา ส306. 2542. หน้า 72.

         http://th.wikipedia.org/wiki/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ประวัติศาสตร์ครูชาญวิทย์

ขอบคุณนะคับ

ขอขอบคุณที่เข้ามาเยี่ยมชมบล็อกนะคับ

สังคม

สังคม

หัวใจวิ่งตามเมาส์